นั่งเครื่องบินอย่างไรไม่ให้เหนื่อย

การเดินทางข้ามประเทศนั้นเป็นเรื่องที่เหนื่อยพอสมควร ต่อให้เป็นนักธุรกิจที่เดินทางจนเชี่ยวแล้วก็ตาม ก็ยังรู้สึกเหนื่อยตั้งแต่ตอนนั่งเครื่องบินขาไปได้ อาการเหนื่อยจากการนั่งเครื่องบินนี้เราเรียกว่า  เจ็ตแล็ก (Jet Lag)

สาเหตุของอาการเจ็ตแล็กนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนที่เปลี่ยนเวลาของเราอย่างรวดเร็ว ซึ่งฝรั่งเขาคำนวณไว้ว่ามักจะเกิดเมื่อเราเดินทางด้วยความเร็วมากกว่า 400 ไมล์ต่อชั่วโมง เรื่องตัวเลขไม่สำคัญเท่าไหร่ แต่สำคัญที่ว่านาฬิกาชีวภาพ หรือ Biological clock ของเราทำงานสัมพันธ์กับเวลาท้องถิ่นในขณะนั้นแค่ไหนมากกว่า

นาฬิกาชีวภาพ คือ กระบวนการหลั่งฮอร์โมนของเรานั่นเอง โดยที่มีฮอร์โมนเมลาโตนินเป็นตัวสำคัญ และฮอร์โมนที่ว่าจะทำหน้าที่ควบคุมการหลับหรือตื่นของเราให้เป็นรอบๆ ในหนึ่งวัน ใครก็ตามที่มีปัญหาของระบบฮอร์โมนที่ว่านี้ก็จะมีปัญหาการนอนหลับตามมา

ดังนั้นถ้าไม่อยากให้มีอาการเจ็ตแล็ก เราก็จะต้องเตรียมตัวปรับสมดุลของฮอร์โมนกลุ่มดังกล่าวเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนี้

  1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือถ้าทำไม่ได้จริงๆ การออกกำลังกายก่อนเดินทางสัก 7 วันก็ยังดี เพราะการออกกำลังกายเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ระบบฮอร์โมนนี้อยู่ตัว และพร้อมปรับตัวกับเวลาที่เปลี่ยนไปได้มากกว่า
  2. ถ้าเลือกได้ ให้เลือกเที่ยวบินกลางคืน เพราะขึ้นไปจะได้นอนเลย ลงเครื่องมาถ้าเวลาท้องถิ่นเป็นกลางคืนอยู่ นาฬิกาชีวภาพจะสั่งให้เรานอนต่อได้ง่ายกว่า แต่ถ้าเวลาท้องถิ่นเป็นเวลากลางวัน อย่างน้อยคุณก็ได้นอนมาบนเครื่องบินบ้างแล้ว ก็ยังพอมีแรงเหลือไปติดต่อการงานได้ทั้งวัน อ้อ… ไม่ต้องรอเสิร์ฟอาหารบนเครื่องนะครับ บางคนงก ต้องกินอาหารบนเครื่องก่อน หลังกินเสร็จท้องแน่นเลยนอนหลับไม่สนิท ก็ไม่ต้องนอนกันอีก
  3. ถ้าเขาเสิร์ฟอาหารว่าง ขอให้เลือกเป็นน้ำผลไม้ หรือไม่ก็น้ำเปล่าไปเลย กินให้มากหน่อยก็ดี จะช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น โดยไม่ต้องไปกังวลว่าจะปัสสาวะบนเครื่องบ่อย เพราะอากาศบนเครื่องมักจะค่อนข้างแห้งอยู่แล้ว
  4. หนึ่งวันก่อนออกเดินทางให้เลือกกินแต่อาหารเบาๆ จำพวกน้ำผลไม้ สลัดผัก และเมื่อถึงตอนนั่งเครื่องบินก็ให้กินอาหารแต่พอประมาณ สั่งเป็นแบบ Fruitarian ได้ก็ยิ่งดี กินไม่มากเท่าไหร่ เพราะว่าการกินแต่น้อยๆ พอให้หายหิว จะทำให้คุณปรับตัวเข้ากับเวลาอาหารท้องถิ่นได้ง่ายกว่า ตอนลงเครื่อง ถ้าหิวก็หาอะไรรองท้องได้เลย
  5. เลือกเที่ยวบินปลอดบุหรี่ เพราะควันบุหรี่จะทำให้ปากคอแห้งมาก จำได้ว่าเคยขึ้นเครื่องบินแขกที่สูบบุหรี่ทั้งลำ ลงจากเครื่องมาเล่นเอาป่วยไปเลย แต่เดี๋ยวนี้ดีหน่อยที่สายการบินส่วนใหญ่จะมีเที่ยวบินปลอดบุหรี่ไว้บริการแล้ว
  6. ไม่ควรสั่งเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เพราะว่าระหว่างนั่งเครื่อง คุณจะมีโอกาสเมาได้ง่ายเป็น 2 เท่า (ยิ่งบวกกับอาการเมาเครื่องบินด้วยแล้วรับรองเมาไม่รู้เรื่องแถมแฮงค์อีกต่างหาก) ในขณะที่ถ้าเมาแล้วร่างกายจะต้องการใช้ออกซิเจนมากขึ้นเป็น 2 เท่า เท่ากับว่าไม่เป็นผลดีเลยเวลาคุณอยู่บนเครื่องบิน
  7. สี่วันก่อนออกเดินทางให้กินเมลาโตนิน 15 มก. ตอน 2 ทุ่ม และกินต่อไปเมื่อถึงที่หมายอีก 5 วัน จะทำให้ปรับเวลาของนาฬิกาชีวภาพได้ง่ายขึ้น เวลาไปถึงที่หมายก็จะปรับเวลานอนเวลาตื่นได้รวดเร็ว นอนหลับได้สนิท เรียกแรงคืนมาได้อีกโข
  8. ให้กินวิตามินและเกลือแร่ในกลุ่มดังต่อไปนี้ ระหว่างที่นั่งเครื่องบิน และกินต่อไปอีกซัก 2-3 วันเมื่อถึงที่หมาย ได้แก่
    วิตามินซีธรรมชาติ 1000 มก. บีรวม 1 เม็ด โฟลิก 400 ไมโครกรัม แคลเซียม 1000 มก. สังกะสี 50 มก. โคลีน 250 มก. พาบา 100 มก. อินโอซิทอล 250 มก. ไบโอติน 50 ไมโครกรัม ฟังดูเยอะแยะมากมาย แต่ถ้าหาไม่ได้ วิตามินบีและซีก็พอ
  9. ว่างๆ บนเครื่องก็หัดลุกเดินยืดแข้งยืดขาสักหน่อย จะช่วยคลายเหน็บชาได้ดี

หลายคนอ่านเสร็จแล้วก็ถึงกับร้องโอ้โฮ ทำไมมันเยอะจัง …ไม่ต้องตกใจ นี่เป็นการแนะนำเท่านั้น ทำได้ไม่ครบก็ไม่เป็นไร เอาแค่ ออกกำลังกาย  ระหว่างนั่งเครื่องก็กินพอหายหิว สั่งน้ำผลไม้ รีบนอนบนเครื่อง พอลงจากเครื่องก็ยังเดินทางต่อได้สบายมาก

ที่มา:   บัลวี ศูนย์ธรรมชาติบำบัด

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply